หนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 3 “จับโจทย์มั่น จัดการแม่น”

บทบรรณาธิการ

“จับโจทย์มั่น จัดการแม่น” หนังสือการบริหารจัดการงานวิจัย (Research Management หรือ RM) เล่มที่ 3 ในจำนวน 3 เล่มของหนังสือชุด การบริหารจัดการงานวิจัย สกว. ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำขึ้น เป็นการรวมเรื่องสั้น อ่านง่าย ได้ความรู้เรื่องเครื่องมือจัดการงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำผลวิจัยที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งเผย “เคล็ด (ไม่) ลับ” ในการใช้องค์ความรู้ร่วมพัฒนาประเทศไปกับ สกว. อีกด้วย หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้อ่านที่ต้องการเป็นนักวิจัยที่สามารถจัดการงานวิจัยให้สำเร็จ มีเป้าหมายตั้งแต่เมื่อเริ่มคิดจะทำ มีวิธีจัดการขณะทำ และมีวิธีตรวจสอบผลงานของตนเองหลังเสร็จงานวิจัยว่ามีคนนำไปใช้ และเกิดผลลัพธ์แล้วหรือยัง หากยังไม่มีจะต้องทำอย่างไรผู้อ่านสามารถเลือกใช้แนวคิด วิธีการและเครื่องมือที่เกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ที่สั่งสมของบุคลากร สกว. ได้ตามความชอบ

หนังสือเล่มนี้เปิดเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการงานวิจัย สกว. ทุกระดับ ได้แก่ ผู้บริหารฝ่าย ผู้ประสานงานวิจัย นักวิจัย และเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ได้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์การเรียนรู้วิธีจัดการงานวิจัยด้วยตนเอง หรือจากการติดตามผู้บริหาร/นักวิจัยขณะไปตรวจเยี่ยมโครงการ แต่ละท่านมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย ทุกเรื่องราวจึงมีความหลากหลายตามสไตล์ผู้นิพนธ์ ลักษณะงาน และบทบาทของผู้นิพนธ์แต่ละท่านเป็นเรื่องเล่าสั้น ๆ ทุกเรื่อง นอกจากจะอ่านด้วยความเพลิดเพลิน ผู้อ่านยังเห็นเครื่องมือและกลไกที่ใช้เป็นแนวคิดและวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลงานตามเป้าหมาย เรื่องประเภทเดียวกันอาจเขียนด้วยมุมมองที่ต่างกัน ผู้นิพนธ์คนเดียวกันอาจถ่ายทอดหลายเรื่องราวที่แตกต่างกันจากประสบการณ์ที่สั่งสม บางเรื่องคัดสรรและเรียบเรียงจากบทความในคอลัมน์ Research Management ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร “ประชาคมวิจัย” ของ สกว. และอีกหลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ ให้ข้อคิดเรื่องเครื่องมือในการจัดการงานวิจัย รวมทั้งสิ้น 25 เรื่อง

ภายในเล่มมี 6 ตอน ประกอบด้วย 1) วิธีจัดการงานวิจัยให้ถึงมือผู้ใช้ประโยชน์ 2) การจัดการงานวิจัยเพื่อสร้างคนวิจัยคุณภาพ 3) ตัวอย่างการจัดการใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านนโยบาย 4) ตัวอย่างการจัดการใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านพาณิชย์ 5) ตัวอย่างการจัดการใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านชุมชน/พื้นที่ และ 6) ตัวอย่างการจัดการใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านสาธารณะ

งานวิจัย สกว. แต่ละชุดโครงการ/โครงการ ผู้ประสานงาน/ผู้วิจัย มีเป้าหมายให้ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลัก แต่จะเห็นว่าในระหว่างทางที่มีการจัดการที่ดีนอกเหนือจากการนำไปใช้ประโยชน์ตรงตามเป้าหมายแล้ว จะเกิดการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ

ชุดโครงการ “งานวิจัยเชิงนโยบายเกษตรและเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยเชิงนโยบาย” ซึ่งมี รศ.สมพร อิศวิลานนท์ เป็นผู้ประสานงาน มีเป้าหมายหลักในการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย โดยได้กำหนดชนิดสินค้าเกษตรที่สำคัญเป็นตัวเลือกทำวิจัย โจทย์วิจัยภายใต้ชุดโครงการจึงมีเป้าหมายสร้างองค์ความรู้และทิศทางประกอบการกำหนดนโยบายของประเทศในเรื่องต่าง ๆ ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้น นอกจากถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แล้ว เมื่อเสร็จสิ้นแต่ละโครงการ มีการจัดทำเอกสารวิชาการเผยแพร่และถูกนำไปอ้างอิงทางวิชาการด้วย นอกจากนั้นเมื่อเกิด “วิกฤต” ชุดโครงการฯ ก็สามารถนำองค์ความรู้ที่สั่งสมเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงสร้างความรู้ความเข้าใจให้สาธารณชนอีกด้วย ในหนังสือเล่มนี้ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ และ ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์ ผู้นิพนธ์เรื่อง “งานวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อเกษตรไทย ‘ยั่งยืน’” ได้เผยให้เห็นวิธีการที่ใช้ในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่องโครงการรับจำนำข้าวกับสังคมผ่านสื่อมวลชนทุกรูปแบบ อย่างทันเวลาและทันเหตุการณ์ขณะเป็นกระแสในสังคม สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นอกเหนือจากการใช้ข้อมูลสนับสนุนการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาโครงการรับจำนำข้าวแล้ว จึงเกิดประโยชน์เอนกอนันต์ด้านสาธารณะอีกด้วย

เรื่อง “‘ปุ๋ยสั่งตัด’ บนเส้นทาง 20 ปี” ก็เช่นกัน ผลงานวิจัยใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสร้างผลงานที่กอปรด้วยการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ทุกด้านเป็นระยะ ๆ ระหว่างการดำเนินงานของทีมนักวิจัยและเครือข่ายของศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ อัตนันท์ ซึ่งคุณวรรณภรณ์ จันทร์หอม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการฝ่ายเกษตร (ขณะนั้น) ให้ความสนใจติดตามเพื่อเรียนรู้วิธีการจัดการของทีมนักวิจัยนานถึง 10 ปี ได้ถอดบทเรียนมาให้ผู้อ่านเพื่อได้เรียนรู้และเก็บไว้เป็นอาวุธประจำตัว ชุดโครงการ “ปุ๋ยสั่งตัด” จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างผลลัพธ์ครบทุกด้าน เกิดผลกระทบในวงการผู้เกี่ยวข้องแบบกระจายตัว จากแนวคิดหลักที่ว่า “หากจะให้เกิดผลประโยชน์กับเกษตรกรทั้งประเทศ จะต้องเกิดเป็นนโยบายการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นหลัก” การใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เกิดขึ้นระหว่างทางทั้งด้านวิชาการ ด้านพาณิชย์ ด้านชุมชนและพื้นที่ จวบจนปัจจุบัน ผลงานวิจัยยังไม่ล้าสมัย และยังสร้างประโยชน์ด้านสาธารณะให้กับเกษตรกรและประเทศชาติเอนกอนันต์ ผู้อ่านสามารถติดตามสาระและรายละเอียดอื่น ๆ ได้จาก “ปุ๋ยสั่งตัด : เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับการรียนรู้ของเกษตรกร” ในหนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 2 (การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบ)

หลายเรื่องเป็นเรื่องเชื่อมโยงกับเรื่องใหญ่ ในหนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 1 (นวัตกรรมการบริหารจัดการงานวิจัย) หรือ เล่มที่ 2 (การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบ) หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับนักวิจัยที่ประสงค์จะมีเครื่องมือจัดการงานวิจัยประจำตัวหรือต้องการอ่านฉบับย่อยก่อนติดตามอ่านเรื่องใหญ่ในอีก 2 เล่มที่กล่าวถึง อาทิ

เรื่อง “การจัดการความรู้ ‘แผ่นดินไหว’ สู่สาธารณะ” และเรื่อง “การสื่อสารสังคมเพื่อใช้ประโยชน์งานวิจัย ‘แผ่นดินไหว’” ทั้งสองเรื่องอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ผู้นิพนธ์เป็นนักสื่อสารสังคมได้ใช้ความสามารถด้านการสื่อสารเป็นเครื่องมือจัดการผ่านกิจกรรม มีการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนเพื่อกระจายข้อมูลความรู้แบบทวีคูณเรื่อง “แผ่นดินไหว” ขณะติดตามผู้บริหารและคณะนักวิจัยลงพื้นที่ รวมทั้งการจัดแถลงข่าวเมื่อมีอุบัติการณ์ เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดผลลัพธ์ในการสร้างการรับรู้และเข้าใจอุบัติภัยของสังคม รวมทั้งสนับสนุนการสร้างผลกระทบระดับนโยบายและมาตรการในการเตรียมการป้องกัน โดยเรื่องเต็มจะเป็นเรื่อง “งานวิจัยแผ่นดินไหว: ลดตระหนกเพิ่มตระหนัก” เขียนโดยผู้บริหารต้นคิดและสนับสนุนให้เกิดชุดโครงการนี้ ท่านให้มุมมองตั้งแต่วิธีคิด การวางแผน การติดตามจนเกิดรูปธรรมของผลกระทบ คือ นโยบาย ในหนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 2

เรื่อง “สร้างคน สร้างปัญญา สร้างชาติ” ในเล่มนี้เขียนโดยผู้นิพนธ์เรื่องโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ในหนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 1 เรื่องแรกเป็นการสรุปให้เห็นเครื่องมือจัดการสร้างคนวิจัยคุณภาพ แต่เรื่องหลังเป็นการบริหารโครงการ คปก. ที่มีตำนานยาวนานคู่ สกว. และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นลำดับ

เรื่อง “จากงานวิจัยเชิงพื้นที่ สู่การปฏิรูปงบประมาณของชุมชนและประเทศ” ในหนังสือเล่มนี้ กับเรื่อง “จากงานวิจัยสู่การปฏิรูประบบงบประมาณเชิงพื้นที่” ในหนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 2 ผู้นิพนธ์คนเดียวกัน หากผู้อ่านต้องการอ่านแบบสรุปวิธีการและเครื่องมือให้เลือกอ่านเรื่องแรกในเล่มนี้ แล้วติดตามอ่านเรื่องเต็มจากหนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 2 ซึ่งมีรายละเอียดและลึกซึ้งด้วยองค์ประกอบความสำเร็จที่นอกเหนือจากการใช้เครื่องมือบริหารจัดการแบบธรรมดา ด้วยอรรถรสที่น่าติดตาม ซึ่งต่อไปท่านอาจได้เป็นนักบริหารและนักจัดการงานวิจัยที่ “ไม่ธรรมดา” เช่นเดียวกับผู้นิพนธ์

เรื่อง “ไก่พื้นเมืองไทย จากอนุรักษ์สู่การสร้างอาชีพและโอกาสใหม่” ในหนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 2 เป็นเรื่องยาวเต็มไปด้วยสาระ วิธีคิด วิธีทำ วิธีบริหารองค์ความรู้ และการสร้างงานวิจัยแบบครบวงจร จากเรื่องธรรมดาของไก่พื้นเมือง “แปลงไก่พื้นเมืองให้เป็นธุรกิจและอาชีพ” กลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดา หลังผ่านร้อน ผ่านฝนมาหลายรอบ ไก่พื้นเมืองในเล่มนี้เป็นเรื่องสั้นที่ผู้อ่านหลายท่านอ่านแล้วคงอยากลงมือทำตาม เพราะได้วิธีคิดและวิธีทำแบบรวบยอด บนเส้นทางความสำเร็จสู่เป้าหมาย

เรื่อง “วิจัย ‘วิถีน้ำ’ เพื่อ ‘วิถีชีวิต’” เรื่อง “การบริหารจัดการชุดโครงการวิจัยการจัดการน้ำชุมชน” และเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด: จากพื้นที่สู่นโยบาย” ทั้งสามเรื่องเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการ “น้ำ” เรื่องแรกเขียนโดยผู้บริหารระดับฝ่าย เรื่องที่สองเขียนโดยผู้ประสานงานฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เรื่องที่สามเขียนโดยผู้ประสานงานฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ มุมมองทั้งสามท่านต่างกัน เนื้อหาจึงต่างกัน แต่ได้ผลลัพธ์และผลกระทบเช่นเดียวกัน สองเรื่องแรกอ่านได้ในเล่มนี้ ส่วนเรื่องที่ 3 ต้องอ่านจากหนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 2 ขอขอบพระคุณผู้นิพนธ์ทุกท่านที่ร่วมอุดมการณ์ถอดบทเรียนประสบการณ์การบริหารวิจัยสู่การเรียนรู้ของสาธารณชนผู้สนใจ

ขอขอบพระคุณรองศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ หัวหน้าโครงการ “โครงการการจัดทำหนังสือ เรื่อง การบริหารจัดการงานวิจัย” ที่ออกแบบ ให้แนวคิด และสนับสนุนการจัดทำรวมทั้งเป็นผู้ให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ “จับโจทย์มั่น จัดการแม่น” ได้อย่าง “โดนใจ” ขอขอบคุณ อาจารย์อรพรรณ บัญชเสนศิริ และคุณรัตนวดี เศรษฐจิตร ที่เป็นกำลังสำคัญในการรวบรวมและเรียบเรียงต้นฉบับจนสำเร็จเรียบร้อย ขอขอบคุณทีมกองบรรณาธิการทุกท่านที่ร่วมกันตรวจทานและให้ภาพประกอบ ทำให้เกิดเป็นหนังสือที่มีคุณค่าต่อการบริหารจัดการงานวิจัยเล่มนี้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นอกจากผู้นิพนธ์จะได้เรียนรู้เพิ่มเติม และมีประสบการณ์ในการบันทึกและถอดความรู้สู่สาธารณชนแล้ว ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้ในการบริหารจัดการงานวิจัยของท่านต่อไปด้วย

“จับโจทย์มั่น จัดการแม่น” หัวใจของแต่ละบทความในหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ทุกท่านสร้างผลงานการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทุกชิ้นให้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ “จุดสตาร์ท” อย่างไร้ “จุดสต๊อบ”

มยุรี จัยวัฒน์
บรรณาธิการ

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com