วารสารประชาคมวิจัยและนวัตกรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (ปฐมฤกษ์)
บรรณาธิการแถลง : อมรรัฏค์ เจริญโชติธรรม
สวัสดีค่ะ ชาวประชาคมวิจัยและหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม พบกับโฉมใหม่ของประชาคมวิจัยภายใต้การเปลี่ยนแปลงจาก สกว. สู่ สกสว. ในฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มีนาคม 2563) ซึ่งแม้ว่าภารกิจขององค์กรจะเปลี่ยน หากแต่การสื่อสารเรื่องราวดีๆ อันเป็นความรู้ในแวดวงวิจัยยังคงดำเนินต่อไปเพื่อพัฒนาสู่สังคมฐานความรู้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 2 พฤภาคม 2563 นับเป็นประวัติศาสตร์แห่่งการเปลี่ยนแปลงของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ได้โอนย้ายหน่วยงานและปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยมากว่า 27 ปี สู่การปฏิบัติภารกิจใหม่ในการส่งเสริมสนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ ภายใต้ชื่อ “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” หรือ “ สกสว.” หน้าที่หลักของเราคือ การจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติโดยการจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมผ่าน “กองทุน TSRI Fund” โดยภารกิจใหม่นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายอย่างยิ่ง…
จดหมายข่าว “ประชาคมวิจัย” ที่มีมาต่อเนื่องยาวนานก็ไม่ได้หายไปไหน หากแต่เราเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาสาระและปรับเปลี่ยนเป็น “วารสารองค์กร” ที่เน้นเนื้อหาการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจใหม่ขององค์กรที่ยกระดับสู่การมองเชิงระบบของประเทศ ภายใต้ชื่อวารสาร “ประชาคมวิจัยและนวัตกรรม” หรือ “TSRI Research and Innovation Society” โดยในปีงบประมาณ 2562 นี้ จะมาพบกับท่านผู้อ่านราย 3 เดือน
“ประชาคมวิจัยและนวัตกรรม” ฉบับที่ 1 นี้มีเรื่องราวเนื้อหาน่าติดตามภายใต้ธีมหลักคือ “Change and Challenge” โดยมีบทสัมภาษณ์พิเศษ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ “รีเซ็ตระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทัพใหม่… ย้ำวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ” ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตามด้วยการทำความรู้จักหน่วยงานสนับสนุนการให้ทุนวิจัยของประเทศ
เนื้อหาความรู้น่าสนใจอีกหลายเรื่องราวที่ห้ามพลาด อาทิ That’s Good ที่นำเสนอความรู้เกี่ยวกับ “อดีตและอนาคตของการสำรวจดาวพุธ” คอลัมน์ For The Future นำเสนอถึง “กำเนิดและชีวิตคนอัจฉริยะ” คอลัมน์ Ignite by Innovation ที่ชวนผู้อ่านให้ก้าวทัน “โอกาสใหม่…ในโลกดิจิทัล”
นอกจากนี้ คอลัมน์ Community Networking ยังสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับงานวิจัยอันทรงคุณค่าของเครือข่าย นักวิจัยในทุกสาขาวิชา โดยในฉบับนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก อาทิ “Frontier Research … ถึงเวลาของประเทศไทยกับงานวิจัยชั้นแนวหน้า” “เปิดอาณาจักร Food Innopolis ศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก” “Innovation Thailand จากประเทศฐานวัฒนธรรม…สู่ประเทศฐานนวัตกรรม” “ยกระดับวิจัยและนวัตกรรมไทย…ผ่านการเรียนรู้ระบบวิจัยในต่างแดน”
ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความท้าทาย…ประชาคมวิจัยและนวัตกรรม ยังคงเป็นพื้นที่แห่งความรู้และการเชื่อมต่อเครือข่ายนักวิจัยเสมอค่ะ…