หนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 2 “การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบ”

บทบรรณาธิการ

การวิจัยและการสนับสนุนการวิจัย เป็นการลงทุนพื้นฐานของชาติและสังคม มุ่งหวังสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างทันการณ์ เพื่อนำไปสู่สังคมคุณภาพ ผ่านกระบวนการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างระบบนิเวศวิจัยและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังจากผลงานการวิจัยยากจะบรรลุเป้าหมาย หากขาดมุมมองและการบริหารจัดการเชิงระบบที่เชื่อมโยงต่อกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล ตั้งแต่ต้นทาง คือ ทรัพยากรและกิจกรรมวิจัย สู่ปลายทาง คือ ผลผลิตจากการวิจัย จนถึงผลลัพธ์ และผลกระทบ

หนังสือ “การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบ” เป็นหนังสือเล่มที่ 2 ในหนังสือชุด การบริหารจัดการงานวิจัย สกว. ซึ่งประกอบด้วย หนังสือ 3 เล่ม เล่มที่ 1 : นวัตกรรมการบริหารจัดการงานวิจัย กล่าวถึง พัฒนาการขององค์กรระดับโครงสร้าง รูปแบบการสนับสนุนการวิจัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ การปฏิรูประบบวิจัย และแนวนโยบายของรัฐบาล เล่มที่ 3 : จับโจทย์มั่น จัดการแม่น รวบรวมเรื่องการจัดการงานวิจัยที่อ่านง่าย หลากสไตล์ ได้แนวคิดเพิ่มมุมมองและวิธีการ สามารถถอดแบบนำไปใช้ได้ทันที

หนังสือเล่มนี้ จัดทำขึ้นเพื่อถอดบทเรียนและประสบการณ์การบริหารจัดการโครงการและชุดโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน ส่งผลกระทบทั้งระดับปัจเจก ชุมชน สังคม นโยบาย และเศรษฐกิจ หนังสือแบ่งเป็น 2 ตอน ดังนี้

ตอนที่หนึ่ง เป็นกรณีศึกษา 11 ประเด็น ที่คัดสรรจากชุดโครงการวิจัย/โครงการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และมีหลักฐาน (evidence) ว่ามีการใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ ด้านเศรษฐกิจ รวมถึง ผลงานการสร้างกระบวนการปรับ-ยกระดับการรับรู้ เรียนรู้ และ/หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกร สังคม และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

กรณีศึกษาเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผลการดำเนินการกว่า 20,000 โครงการของ สกว. แต่ทุกประเด็นอาจส่งผลกระทบต่อสังคมได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ได้แก่

ในเชิงนโยบาย: การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ทำให้เราตระหนักว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อทางเลือกเทคโนโลยีและบริการสาธารณสุขของประเทศให้เกิดความคุ้มค่าและยั่งยืนนั้น ต้องการการวิจัยสนับสนุนอย่างเข้มข้นอย่างไร ?

การกำหนดนโยบายสำคัญ กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นผ่านการปฏิรูประบบงบประมาณเชิงพื้นที่ (Area-Based Budgeting; ABB) ต้องมีทั้งการบริหารจัดการงานวิจัย และการสังเคราะห์ชุดความรู้เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การสนับสนุนการสร้างอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ เพื่อสร้างอาชีพใหม่ที่เป็น supply push ให้เพียงพอที่จะทำให้เกษตรกรประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อต้องทำทั้งระบบจากผู้เลี้ยงถึงผู้บริโภค พร้อมๆ ไปกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสรอบด้านภายใต้เงื่อนไขสภาวะแวดล้อมใหม่ กลายเป็น “ยุทธศาสตร์โคเนื้อของประเทศ”

งานวิจัยต้นน้ำเพื่อพัฒนาชุดทดสอบดินและปุ๋ย ผ่านการจัดการ ขยายผลทดสอบในพืชไร่จนกลายเป็น “ปุ๋ยสั่งตัด” สร้างกระบวนการคิดและกระบวนการทำแบบใหม่ที่ลดต้นทุนการผลิตพืชเกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและความรู้ ต่อยอดเป็นนโยบายรัฐบาลหลายยุคสมัย

ในเชิงสาธารณะ: ความรู้เรื่องแผ่นดินไหว ไม่เพียงก่อให้เกิดการปรับตัวเพื่อลดการสูญเสียทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน แต่ยังนำไปสู่การประเมินเพื่อลดความเสี่ยง การฟื้นฟูโครงสร้างโบราณสถานสำคัญ และการเตรียมมาตรการป้องกันและความพร้อมในการรับมือ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการน้ำ จากเรื่องที่ดูเหมือนวิจัยไกลตัว เมื่อ 15 ปีก่อน กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน (sector) ทั้งเศรษฐกิจ ผลผลิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน

ในเชิงเศรษฐกิจ: ชุดความรู้ด้านยางพาราได้นำส่งไปสู่การตัดสินใจทั้งเชิงนโยบายและเศรษฐกิจ สนับสนุนการแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มและการมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง ผลงานวิจัยที่รองรับการขับเคลื่อนนโยบายใช้ประโยชน์ยางพาราไทยหลากหลายรูปแบบ

ชุดโครงการไก่พื้นเมืองไทย จากเป้าหมายเบื้องต้นเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้ผ่านการบริหารจัดการงานวิจัยหลายรูปแบบ ได้พัฒนาพันธ์ุใหม่ และอาชีพของเกษตรกรในหลายภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเกิดสินค้าใหม่เป็นทางเลือกของผู้ประกอบการ ขยายผลเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไก่พื้นเมืองในถิ่นเกิด (in situ conservation)

การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเกิดผลลัพธ์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการน้อยมาก หากขาดความรู้ความเข้าใจ ความสามารถในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงเทคโนโลยี ความต้องการของผู้บริโภค จุดขาย กรณีศึกษา การพัฒนาระบบสหกรณ์สู่การค้าที่เป็นธรรม และนวัตกรรมการวิจัยเชิงพาณิชย์ จะชี้ชวนให้ท่านได้เข้าถึง “กระบวนการ” การจัดการ mindset ที่ต่างกันแต่มีเป้าหมายร่วม คือ สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/OTOP และ SME ปรับตัวให้อยู่รอดได้/สู้ได้ในกระแสความผันผวนทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนโครงสร้างประชากร และรสนิยมของผู้บริโภค

กรณีศึกษาทั้ง 11 เรื่องนี้ มีเป้าหมายและทิศทางชัดเจน ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพของสังคมไทย เป็นการทำงานบนข้อมูล ความรู้ ข้อเท็จจริง โดยคำนึงถึงผู้ใช้ประโยชน์งานวิจัยและผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ กระบวนการทำงานอาจแตกต่างกันตามธรรมชาติของงาน แต่มีจุดร่วมที่การบริหารวิชาการ การเติมเต็มความรู้ การสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง การบริหารความเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงนโยบาย สถานการณ์ และกระแส การเตรียมรับโอกาสใหม่ๆ การบริหารจัดการความสัมพันธ์ทุกระนาบ และความรับผิดชอบในการผลักดันผลงานสู่ความสำเร็จ ผ่านกระบวนการสื่อสารตรงและโดยอ้อม สนับสนุนการคิดนอกกรอบ แต่ไม่ผิดเป้า ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและวิธีการจัดการแต่คงวัตถุประสงค์หลัก

ผู้นิพนธ์ทุกท่าน เป็นผู้บริหารจัดการงานวิจัยที่สร้างผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถใช้เครื่องมือและพัฒนากลไกการจัดการที่เหมาะสม บางกรณีศึกษาบ่งชี้ความสามารถเฉพาะบุคคลที่สร้างระบบ “นำส่ง” ผลงานวิจัยได้สอดคล้องกับสถานการณ์ สร้างสรรค์ให้เกิดผลกระทบที่เหนือความคาดหมาย

กรณีศึกษาที่นำเสนอ เป็นหลักฐานตอกย้ำว่า การสร้างผลลัพธ์-ผลกระทบใหม่ ต้องมีความรู้ทั้งข้อมูล และข้อสังเคราะห์ และกระบวนการจัดการดังที่กล่าวถึง จึงมิได้เป็นสูตรสำเร็จหรือคำตอบสุดท้าย แต่เป็นการเสนอบทเรียนและการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การเติมเต็ม สร้างสมประสบการณ์ใหม่ที่เหมาะสมจำเพาะกับบริบท เงื่อนไข และยุคสมัย

ตอนที่สอง กล่าวถึง แนวคิด ทฤษฎี หลักการและเครื่องมือการบริหารจัดการโครงการ ชุดโครงการวิจัย ตั้งแต่ การวิเคราะห์ปัญหา พัฒนากรอบคิดสู่โจทย์วิจัย กระบวนการสนับสนุนทุนวิจัย การปฏิบัติการวิจัย การติดตามประเมินผล และการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย เพื่อให้เกิดการยอมรับ ปรับใช้ (outcome) และขยายผล (impact) ด้วยทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงและการวางแผนโครงการด้วยล็อคเฟรม

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change; ToC) ถูกนำมาใช้อธิบายความเชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผล ตั้งแต่เริ่มโครงการวิจัยจนถึงระบบการนำส่งสู่ผู้ใช้ประโยชน์ จากกรณีตัวอย่างข้างต้น รองศาสตราจารย์ สมพร อิศวิลานนท์ ผู้นิพนธ์ ได้เลือกใช้ 3 ชุดโครงการเป็นตัวแทนในการวิเคราะห์ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1) การดำเนินการเพื่อสร้างผลลัพธ์ในระยะยาว ภายใต้ กรอบคิดตามหลักทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) (การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ) 2) กระบวนการบริหารจัดการจนได้ outcome และ impact แต่ละช่วงระยะของชุดโครงการ (การพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและรักษาตลาดภายในประเทศ) 3) การปรับกระบวนการคิดของผู้ประกอบการรายย่อยและกลาง เพื่อพัฒนาตนเอง โดยการวิเคราะห์จำแนกกลุ่มตามศักยภาพ และจัดทำแผนพัฒนาให้รองรับตามความสามารถ (นวัตกรรมการวิจัยเชิงพาณิชย์ : สร้างคน สร้างของ)

การมุ่งผลลัพธ์ต้องการเครื่องมือสนับสนุนการออกแบบติดตามอย่างเป็นระบบ Logical Framwork (LogFrame) เป็นเครื่องมือสนับสนุนกระบวนการปฏิบัติงานโครงการจริง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้นิพนธ์ ได้นำหลักการและวิธีการมาอธิบายขยายความ ความเป็นมา และการปรับใช้ LogFrame ในชุดโครงการวิจัยที่เป็นกรณีศึกษาอย่างเป็นขั้นตอน เข้าใจง่าย ผู้อ่านสามารถปฏิบัติตามได้ พร้อมยกตัวอย่างกรณีความสำเร็จ-ไม่สำเร็จที่เป็นผลจากการวิจัย และจากการวิเคราะห์บริบทอย่างรอบด้าน

ผู้อ่านจะได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้ ?

ผู้กำกับนโยบาย ได้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผล ระหว่างทรัพยากรที่ใช้กับผลลัพธ์ที่ได้ เข้าใจเหตุปัจจัยที่เป็นตัวเสริม หรือเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เป้าหมาย การพัฒนากระบวนการและระบบนิเวศที่เหมาะสมเพียงพอต่อการเชื่อมโยง output สู่ outcome และ impact

ผู้บริหารงานวิจัย ได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาจริง ถึงกระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัยขนาดใหญ่ การทอนโจทย์ให้เหมาะสมกับงบประมาณและผลลัพธ์ที่คาดหมาย การบริหารจัดการงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีเครื่องมือในการติดตามความก้าวหน้าของโครงการ

นักวิจัย เรียนรู้การออกแบบโครงการและชุดโครงการ ความสัมพันธ์และบทบาทของโครงการวิจัยภายในชุดเดียวกัน รวมทั้งการขับเคลื่อนผลงานสู่เป้าหมาย

ทั้งนี้ อาจจะสรุปได้ว่า “การเริ่มชุดโครงการอย่างมีเหตุมีผล ย่อมนำไปสู่การสร้างผลงานอย่างสมเหตุสมผล”

ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณโครงการจัดทำหนังสือชุด “การบริหารจัดการงานวิจัย สกว.” รวมทั้งให้ความสนใจและติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

ขอขอบคุณผู้นิพนธ์ทุกท่าน ที่กรุณาสละเวลารื้อฟื้นความทรงจำ ถอดประสบการณ์ เรียบเรียงและสร้างสรรค์เอกสารต้นฉบับ รวมถึงเข้าร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็นเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของหนังสือ ขอบคุณรองศาสตราจารย์ มยุรี จัยวัฒน์ ที่กรุณาตรวจสอบต้นฉบับ และให้ข้อชี้แนะที่มีคุณค่า

ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง อดีตผู้อำนวยการ สกว. ที่กรุณาอนุญาตให้ใช้บทความเรื่อง การวางแผนโครงการด้วยล็อคเฟรม (Logical Framework Project Planning) จัดพิมพ์เพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วนของหนังสือ

จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ
บรรณาธิการ

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com