หนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 1 “นวัตกรรมการบริหารจัดการงานวิจัย”

หนังสือชุดการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 1 “นวัตกรรมการบริหารจัดการงานวิจัย”

บทบรรณาธิการ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ก่อตั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุน การวิจัย พ.ศ. 2535 และเป็นหน่วยงานในกกับของสำนักนายกรัฐมนตรี มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อ “สร้างสรรค์ปัญญา พัฒนาประเทศ” เป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ใช้รูปแบบการสนับสนุนการวิจัยแบบชุดโครงการ (Program-based Research Management) พร้อมๆ ไปกับการสนับสนุนการสร้างผลงานและบุคลากรวิจัยผ่านทุนในฝ่ายวิชาการ และโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ในรูปแบบโครงการวิจัยเดี่ยว (project) นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการสนับสนุนทุนวิจัยระดับชุมชน (Community-based Research) ระดับพื้นที่ (Area-based Research) และอีกหลากหลายรูปแบบ

ยี่สิบห้าปีผ่านไป สกว. ได้พัฒนาโครงสร้าง ระบบ กลไก และเครื่องมือด้านการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ (outcome) ที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการสร้างผลกระทบ (impact) จากผลงานวิจัยกว่า 20,000 โครงการ โดยพัฒนารูปแบบการสนับสนุนการวิจัยแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) โครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ (พคน. หรือ IRN) การวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Research Issue หรือ SRI) งานวิจัยมุ่งเป้า (Targeted Research Issue หรือ TRI) โครงการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการวิจัยและพัฒนา (S-Curve and New S-Curve) จึงอาจกล่าวได้ว่า สกว. สนับสนุนการวิจัยครอบคลุม ทั้งระดับ function, area และ agenda

การบริหารจัดการงานวิจัยให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้ทฤษฎีและวิธีการบริหารจัดการหลากหลายรูปแบบที่มีความจำเพาะกับชนิดโจทย์ เป้าหมาย และผู้ใช้ประโยชน์ สกว. จึงเห็นสมควรถอดบทเรียน วิเคราะห์ความรู้ด้านการบริหารจัดการงานวิจัย และจัดทำเอกสารบันทึกความรู้ กลยุทธ์ และวิธีบริหารจัดการงานวิจัยของ สกว. เพื่อประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวม องค์กร และผู้บริหารงานวิจัย รวมถึงนักวิจัยทุกระดับสหรับเรียนรู้และปรับใช้เพื่อสร้างความสำเร็จต่อไป

หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของศาสตราจารย์ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย (เมษายน 2552-เมษายน 2561) ผู้เห็นคุณค่าของการเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการงานวิจัยของ สกว. และได้จุดประกายสร้างสรรค์งาน รวบรวมสรรพกำลังด้านความคิดและประสบการณ์ของทีมผู้บริหาร สกว. (ผู้อำนวยการฝ่าย/โครงการ) ถอดบทเรียนที่สั่งสมมาทั้งจากงานเดิมที่เคยท งานที่กลังดำเนินการ และงานที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต เพื่อถ่ายทอดและเผยแพร่สู่ประชาคมวิจัย โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างความเป็นมา ฐานคิดเป้าหมาย วิธีการสู่เป้าหมาย และการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง หรือคาดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้น โยงไปสู่การปฏิรูประบบวิจัยตามยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี รวมทั้งการจัดตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติด้วย

การทบทวนหลักคิด สะท้อนวิธีบริหารงานโดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน นำไปสู่การหาวิธีดำเนินการที่ถูกต้อง มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง สกว. จากการให้สัมภาษณ์ของอดีตผู้อำนวยการ สกว. ทั้งสามท่าน ที่ได้เปิดตนานการบริหารจัดการองค์กรสนับสนุนทุนวิจัยขณะดรงตำแหน่ง ทำให้เห็นภาพวิธีการบริหารจัดการในแต่ละยุคสมัยของ สกว. ในช่วง 20 ปีหลังก่อตั้ง สร้างการเรียนรู้วิธีบริหารจัดการแบบ “พลวัต” ของ สกว. ตั้งแต่แรกเริ่มจนเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าการปรับเปลี่ยนจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และในรูปแบบใดบนเหตุผลการเปลี่ยนแปลงของบริบท จะเห็นว่า สกว. ยังคงรักษาตำแหน่ง “นวัตกรรมการบริหารจัดการ” ไว้ได้อย่างดี

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นใน สกว. คือ ยุทธศาสตร์ที่เน้นการสนับสนุนงานวิจัยในประเด็นที่จะทำให้เกิดผลกระทบ (impact) จากงานวิจัยสู่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมทั้งองค์ความรู้ในเชิงวิชาการเพื่อต่อยอดสู่นวัตกรรมในหลายๆ ด้าน การส่งมอบผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จะเกิดแรงส่งด้านการจัดการ (user management) มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (research utilization process) เกิดผลกระทบทั้ง 2 ด้าน คือ supply side และ demand side เกิดนวัตกรรมจากนักวิจัยสู่การผลิต เกิดผลลัพธ์เป็นนวัตกรรมพึงประสงค์ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความร่วมมือขององค์กรสนับสนุนทุนวิจัยจนเกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกัน (Funding Research Agency Network) จะทำให้การบริหารงานวิจัยของประเทศมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บรรลุเป้าหมาย ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศมากขึ้น

หนังสือการบริหารจัดการงานวิจัย (RM) เล่มนี้ เป็นเล่มที่ 1 ในจำนวน 3 เล่มของ ชุดหนังสือการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. ชื่อ “นวัตกรรมการบริหารจัดการงานวิจัย” เน้นระบบและกลไกการบริหารงานของฝ่าย/โครงการ รวม 11 เรื่อง ตามลำดับของกลุ่มงานที่ สกว. สร้างขึ้น มีการพัฒนาและปรับแต่งเพื่อสนับสนุนความสำเร็จของงานเดิม และงานที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ สนองความต้องการในการพัฒนาประเทศและสังคมตามยุคสมัย แยกเป็น 3 กลุ่มงาน

กลุ่มงานเมื่อแรกเริ่มและดำเนินการต่อเนื่อง เป็นงานดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ต้น ให้ทุนต่อเนื่องมายาวนาน มีการจัดการรูปแบบที่มีพัฒนาการตามเงื่อนไขปัจจัยที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยรวม 3 งาน/โครงการ/กลุ่ม ได้แก่ งานวิชาการ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (ปัจจุบันเป็น คปก. ระยะที่ 2: 2560-2579) และกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาซึ่งยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีการขยายงานเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์เฉพาะและเร่งด่วนของประเทศ

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่พัฒนาขึ้นในระยะกลาง ต่อเนื่องจากฐานงานเดิม ความรู้ ข้อค้นพบและประสบการณ์บริหารจัดการ มีการบูรณาการภายใน สกว. เพื่อขยายการเรียนรู้และตอบโจทย์ใหญ่ขึ้นทั้งแนวดิ่งและระนาบ มีลักษณะเฉพาะ และเน้นตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ รวม 5 งาน/โครงการ/ฝ่าย ได้แก่ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) งานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (ABC) โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) โครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ (พคน. หรือ IRN) และฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ งาน CBR และ ABC เป็นการขยายงานในกลุ่มวิจัยและพัฒนา แต่งาน พวอ. และ พคน. ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนความสำเร็จในการสร้างนักวิจัยระดับยอดเยี่ยมร่วมกับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ส่วนฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ แม้จะเป็นฝ่ายที่ตั้งขึ้นล่าสุด แต่ สกว. ได้สร้างผลงานจากการสนับสนุนทุนวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ระดับโครงการมาตั้งแต่ช่วงแรกของการดำเนินงาน ซึ่งต่อมาขยายเป็นระดับกลุ่มงาน และเป็นระดับฝ่ายในที่สุด

กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มงานที่สร้างใหม่ รวม 3 งาน/โครงการ บางงานเคยมีอยู่แต่ปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด ได้แก่ งานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (SRI) และงานตอบโจทย์แบบมุ่งเป้าตามความต้องการของประเทศแบบรีบด่วน อีก 2 งาน ได้แก่ งานวิจัยแบบมุ่งเป้า (TRI) และโครงการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการวิจัยและพัฒนา (S-curve and new S-curve)

“ปฏิรูประบบวิจัยและก้าวต่อไปของ สกว.” ในปัจฉิมบท กล่าวถึงการปฏิรูประบบวิจัยทั้งประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยย่อ พัฒนาการของ สกว. การประเมินผลกระทบของการปฏิรูประบบวิจัยที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของ สกว. เป็นเหตุผลให้ต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ออกแบบระบบและกลไกการบริหารทุนและองค์กรในแนวใหม่ สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายและใหญ่ขึ้นของผู้ใช้ประโยชน์ (users and customers) แต่จะยังคงความเป็น “นวัตกรรม” ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นทิศทางการทำงานที่ต้องปรับเปลี่ยนจากอดีตสู่ความแปลกใหม่ของ สกว. ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้อ่านระดับผู้บริหาร และผู้กำกับงานวิจัยระดับนโยบาย สามารถเรียนรู้และใช้เป็นคู่มือในการออกแบบองค์กรและสนับสนุนทุนวิจัย สามารถปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์/ผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผู้รับผิดชอบได้ออกแบบไว้

หนังสือการบริหารจัดการงานวิจัยอีก 2 เล่มที่เป็นผลผลิตของ “โครงการการจัดทำหนังสือเรื่อง “การบริหารจัดการงานวิจัย” คือ “การบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบ” (ชุดหนังสือการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 2) เป็นการบริหารจัดการที่เจาะลึกลงในชุดโครงการวิจัย (program) เน้นทั้งระดับนโยบายและการกำกับทิศทางดำเนินงาน เหมาะสำหรับผู้อ่านกลุ่มบริหารงานวิจัยชุดโครงการขนาดใหญ่ เช่น หน่วยงานวิจัยหรือรองอธิการบดีที่กำกับเรื่องการวิจัยของสถาบันการศึกษา หรือกลุ่มที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ ส่วนชุดหนังสือการบริหารจัดการงานวิจัย สกว. เล่มที่ 3 “จับโจทย์มั่น จัดการแม่น” เป็นการรวมเรื่องสั้น อ่านง่ายได้ความรู้เรื่องเครื่องมือการจัดการงานวิจัยที่หลากหลาย เหมาะสำหรับผู้อ่านที่ต้องการเรียนลัดตามรอยนักจัดการงานวิจัยของ สกว.

ขอขอบพระคุณศาสตราจารย์ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผู้จุดประกายการจัดทำ ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง และศาสตราจารย์ ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ อดีตผู้อำนวยการ สกว. ทั้งสามท่าน ที่ให้ความอนุเคราะห์ย้อนอดีต เปิดตำนานการบริหารจัดการองค์กรสนับสนุนทุนวิจัยของ สกว. สร้างหลักคิดการบริหาร ให้ผู้บริหารและทีมงานรุ่นต่อมาได้ศึกษา ทบทวน เชื่อมโยงสู่การบริหารในปัจจุบัน และวาดฝันสู่การบริหารในอนาคต

ขอขอบคุณผู้นิพนธ์ทุกท่านที่ร่วมอุดมการณ์ ถอดบทเรียนประสบการณ์การบริหารงานวิจัยสู่การเรียนรู้ของสาธารณชนผู้สนใจ

สกว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้ และอีกสองเล่มในชุดเดียวกัน จะเป็นคัมภีร์สำหรับนักบริหารจัดการงานวิจัยทุกระดับ ผู้กำกับงานวิจัยระดับนโยบาย และผู้วิจัย รวมทั้งเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่จะนำไปปรับใช้ในการบริหารจัดการงานวิจัยในทุกวาระและโอกาส

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ
บรรณาธิการ

ดาวน์โหลด

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com