วารสารประชาคมวิจัยและนวัตกรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 3

บรรณาธิการแถลง : อมรรัฏค์ เจริญโชติธรรม

สวัสดีค่ะ ชาวประชาคมวิจัยและหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม วารสาร “ประชาคมวิจัยและนวัตกรรม” หรือ “TRSI Research and Innovation Society” ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน 63) นี้ เรามีเรื่องราวดีๆ ที่น่าสนใจมานำเสนอให้ผู้อ่านได้รับความรู้และทราบความเคลื่อนไหวในแวดวงวิจัยหลายเรื่องราว

ฉบับนี้ธีมหลัก คือ “ออกแบบแผน(ที่)วิจัย…ประเทศไทยไปทางไหนดี?” เป็นคำถามที่ได้นักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายท่านจะมาร่วมให้แนวทางคำตอบในคอลัมน์ต่างๆ อาทิ คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ “ปักหมุด…เส้นทางหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง” ที่สะท้อนทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ที่คร่ำหวอดในวงการวิจัยไทย ได้แก่ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ ศ. ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา รศ. ดร.ศิริเดช บุญแสง และ รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ซึ่งท่านได้กล่าวถึงทิศทางงานวิจัยในแต่ละด้านที่กำลังดำเนินไปข้างหน้าและปลายทางจะเป็นอย่างไร

คอลัมน์ สัญญาณอนาคต สู่การขับเคลื่อนระบบวิจัยไทย เป็นบทสัมภาษณ์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการภารกิจการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดร.ปุ่น ได้ฉายภาพวิธีการวางเป้าหมายที่ต้องทำในการขับเคลื่อนเชิงระบบและเชื่อมโยงระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เรียกว่า “STEEP” จะเป็นอย่างไร…ห้ามพลาดค่ะ

คอลัมน์ประจำอื่นๆ ที่ไม่ควรพลาด That’s good สาระเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจง่ายในเล่มนี้ นำเสนอเรื่อง “กา : นกที่มี IQ ระดับสุดยอด” คอลัมน์ For The Future : ทฤษฎีใหม่ ดีเอ็นเอ ไม่ใช่ ‘พิมพ์เขียว’ ของชีวิต คอลัมน์ Ignite by Innovation ฉบับนี้ห้ามพลาดกับเรื่อง “เอ็นอาร์ไอไอเอส (NRIIS) ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” คอลัมน์ Story touring ในเรื่อง “วิจัยแก้จน ดัน ‘โคราชโมเดล’ สู่ ‘อีสาน 4.0’”

ปิดท้ายด้วยคอลัมน์ Community Networking ที่จะพาผู้อ่านไปรู้จักหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จัก 4 หน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่ อพวช. หรือ “องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตชั้นนำในอาเซียน และอีกหน่วยงานหนึ่งคือ สดร. หรือ สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

แค่เกริ่นชื่อเรื่องในคอลัมน์ต่างๆ ก็ยิ่งน่าติดตามนะคะ หวังว่าท่านผู้อ่านคงได้รับสาระประโยชน์จากวารสาร “ประชาคมวิจัยและนวัตกรรม” หรือ “TRSI Research and Innovation Society” ฉบับนี้อย่างเต็มอิ่มและร่วมพัฒนาไปสู่สังคมฐานความรู้ร่วมกับชาว สกสว. ต่อไป

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com